วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

พื้นที่ชายหาดพัทยา หายไปใหน


ศูนย์ข่าวศรีราชา-รอง นายกเมืองพัทยา-นอภ.บางละมุง รุดตรวจสอบพื้นที่ชายหาดพัทยา หลังพบถูกน้ำทะเลกัดเซาะเป็นแนวยาวกว่า 3 ร้อยเมตร จนผู้ประกอบการร่มเตียงต้องนำถุงทรายมาวางกันคลื่น
      
วันนี้ (24 ม.ค.54) นายรณกิจ เอกะสิงห์ รองนายเมืองพัทยา และนายมงคล ธรรมกิตติคุณ นายอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ชายหาด บริเวณใกล้เคียงโรงแรมดุสิตธานี พัทยา ภายหลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวว่า ชายหาดบริเวณดังกล่าวความยาวประมาณ 300 เมตร ได้ถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนเวลาน้ำขึ้นชายหาดบางส่วนได้หายไป ซึ่งกังวลว่า ในอีกระยะเวลาไม่นานชายหาดพัทยา จะถูกน้ำทะเลกัดเซาะจนไม่มีหลงเหลือ และอาจจะทำให้เศรษฐกิจการท่องเที่ยวเสียหาย
      
จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีการกัดเซาะของน้ำทะเลจนต้นไม้ใหญ่ไม่มีพื้นที่ดินให้ยึดลำต้น และบริเวณหาดทรายช่วงโค้งโรงแรมดุสิตธานี ลดน้อยหายลงไปมาก ผู้ประกอบการร่มเตียงจากที่สามารถกางเตียงได้ 40 เตียง ก็เหลือประมาณ 4 เตียงเท่านั้น ทำให้ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
      
นายรณกิจ เผยว่า ปัญหาดังกล่าว ได้มีการเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และทางเมืองพัทยา ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการประชุมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น อำเภอบางละมุง กรมเจ้าท่า และนักวิชาการ จากมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ เพื่อหาแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้น ก็มีการเสนอแผนการแก้ไขในระยะยาว คือ จะมีการนำทรายจากแหล่งธรรมชาติ มาเพิ่มบริเวณชายหาด ลึกลงไปประมาณ 50 เมตร แต่ในเรื่องดังกล่าวนี้ ก็คงจะต้องประชุมกับนักวิชาการและเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อศึกษาถึงผลดีและผลเสีย ก่อนที่จะมีการอนุมัติงบประมาณมาเพื่อดำเนินการ เนื่องจากการดำเนินการในการแก้ไขจะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก
      
ในส่วนของผู้ประกอบการร่มเตียงนั้น ก็จะมีการช่วยเหลือ หากอยู่ในช่วงดำเนินการแก้ไข ก็จะย้ายผู้ประกอบการร่มเตียงที่เดือดร้อน ไปอยู่ในส่วนพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่สันทนาการ โดยจะมีการจัดระเบียบผู้ประกอบการที่เดือดร้อน เนื่องจากมีการจัดพื้นที่สันทนาการ 50 เปอร์เซนต์จากพื้นที่กางร่มเตียง โดยจะให้ผู้ประกอบการไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวชั่วคราว จนกว่าจะมีการปรับปรุงแก้ไขโดยแล้วเสร็จ
      
ส่วนการแก้ไขในระยะสั้น ทางเมืองพัทยา จะนำกระสอบทรายมาเป็นแนวกั้นน้ำ ส่วนต้นไม้ใหญ่ที่หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการโค่นลงมา อาจจะเกิดอันตรายได้ ทางเจ้าหน้าที่ก็จะรีบลงมาแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นอย่างเร็วที่สุด โดยปัญหาการกัดเซาะของทะเลในครั้งนี้ เป็นโครงการดำเนินการอย่างเร่งด่วน แต่ถึงอย่างไรก็จะต้องศึกษาและทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน เนื่องจากเป็นโครงการที่ละเอียดอ่อน และเป็นการช่วยรักษาธรรมชาติ อีกทางหนึ่งด้วย
      
ด้านนายอำเภอบางละมุง กล่าวด้วยว่า ในเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของหลายหน่วยงาน ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ และก็ฝีมือมนุษย์ด้วย เพราะที่ผ่านมามีการปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์ให้มีความสวยงามมากยิ่งขึ้น ก็อาจจะเกิดผลกระทบกับธรรมชาติได้ อีกทั้งเนื่องจากในช่วงลมหนาว ตามธรรมชาติน้ำทะเลจะมีการซัดทรายลงไปในทะเล แต่หากในช่วงหน้าร้อนน้ำทะเลก็จะซัดทรายขึ้นมาบนหาด ซึ่งก็เป็นความสมดุลของธรรมชาติ
      
แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น น้ำทะเลได้พัดทรายออก แต่เมื่อถึงช่วง กลับไม่พัดทรายเข้ามา ทำให้บริเวณพื้นที่ชายหาดลดน้อยลงไป น้ำทะเลจึงกัดเซาะชายฝั่ง จนแทบไม่เหลือหาดทราย ทางอำเภอบางละมุง ก็ร่วมกับเมืองพัทยา และหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุม หารือ และร่วมกันหาแนวทางแก้ไข ขณะนี้ก็อาจจะล่าช้าบ้าง เนื่องจากจะต้องมีการศึกษาตามหลักวิชาการ และยื่นเสนอของบประมาณที่จะต้องใช้เป็นจำนวนมาก ถือว่าเป็นโครงการเร่งด่วน ที่ทางรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น